แชร์

GLP-1 ฮอร์โมนควบคุมความหิว กับการรักษา โรคไขมันพอกตับ

อัพเดทล่าสุด: 26 ส.ค. 2023
4518 ผู้เข้าชม
คลินิก หมออรรถวิทย์ หมอกรเพ็ญ อัลตราซาวด์ โรคตับ ไขมันพอกตับ ปากกาลดความหิว

          ยา GLP-1 เป็นยาที่ได้รับการรับรองจาก องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา หรือ FDA ในการรักษาโรคเบาหวาน และ โรคอ้วน นอกจากนั้นจากข้อมูลล่าสุดยังพบว่าอาจสามารถนำมารักษาโรคไขมันพอกตับ ได้ด้วย เรามาทำความรู้จัก ยาชนิดนี้กัน รวมถึงโรคไขมันพอกตับคืออะไร และทำไมต้องรักษา

โรคไขมันพอกตับ (Non-alcoholic fatty liver disease) คืออะไร

  • โรคไขมันพอกตับ เป็นโรคที่มีการสะสมของไขมันในเนื้อตับมากกว่า 5% ของเนื้อตับทั้งหมด โดยไม่ได้เกิดจากการทานเหล้า ซึ่งโรคไขมันพอกตับ สามารถพบได้ในประชากรมากกว่า 20% ทั่วโลก โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาโรคอ้วน หรือ ผู้ที่เป็นเบาหวาน
  • ผู้ป่วยที่มีไขมันพอกตับหากมีตับอักเสบ และไม่ได้รับการรักษา มีโอกาสถึง 20% ที่จะกลายเป็นตับแข็งรวมถึงมะเร็งตับได้ โดยส่วนใหญ่จะมีอายุเฉลี่ยน้อยกว่า 10 ปี หากเป็นตับแข็ง
  • ดังนั้นหากเป็นโรคไขมันพอกตับโดยเฉพาะเริ่มมีตับอักเสบแล้ว ควรรีบรักษาเพื่อลดโอกาสการเกิดตับแข็งและมะเร็งตับในอนาคต

GLP-1 คืออะไร

  • GLP-1 หรือ ฮอร์โมนควบคุมความหิว เป็นฮอร์โมน ที่ร่างกายผลิตขึ้นหลังจากที่เรารับประทานอาหาร โดยทำให้ร่างกาย หลั่งฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้น ยังมีผลต่อความหิว ทำให้เรารู้สึกอิ่ม ไม่อยากทานอาหารต่อ
  • GLP-1 agonists จึงได้ถูกสร้างขึ้น เพื่อนำมาใช้รักษาโรคเบาหวาน แต่ผลที่ได้กลับมีมากกว่าที่คิด คือ เป็นยาที่สามารถลดน้ำหนักได้เยอะ จนกลายเป็นยาที่นำมารักษาโรคอ้วนในปัจจุบัน ที่ผ่านการรับรองจาก FDA ของอเมริกา  
  • โดยในท้องตลาด ณ ปัจจุบัน จะมียาในรูปแบบ เป็นยาฉีด และ ยาเม็ดกิน โดยยาที่แนะนำในปัจจุบันคือ ตัวยา ที่ชื่อ “Semaglutide”  ซึ่งมีทั้งในรูปแบบฉีด ภายใต้ชื่อ “Ozempic” หรือ “Wegovy” และยากิน ภายใต้ชื่อ “Rybelsus”

GLP-1 กับการลดน้ำหนัก และ การรักษาโรคไขมันพอกตับ

  • ทำไม GLP-1 ถึงช่วยลดน้ำหนัก
    • Semaglutide, Liraglutide และ Tirzepatide เป็นยาในกลุ่ม GLP-1 ที่ผลต่อการลดลงของน้ำหนักอย่างมีนัยสำคัญ 
      • โดยข้อมูลของยา “Semaglutide” จากการศึกษาเทียบกับยาหลอก ในอาสาสมัคร 1,961 คน ผู้ที่ใช้ยา “Semaglutide” สามารถลดน้ำหนักลงได้ประมาณ 15% จากน้ำหนักตัวตั้งต้น หรือลดเฉลี่ยประมาณ 15.3 กก. เมื่อสิ้นสุดการศึกษา นอกจากนั้นไขมันสะสมในส่วนต่างๆเช่น ใต้ผิวหนังหรือภายในช่องท้องต่างก็ลดลงด้วย

      • โดยน้ำหนักจะเริ่มลดลงตั้งแต่ 4 สัปดาห์แรกที่ใช้ “Semaglutide” ซึ่งสามารถลดได้ประมาณ 3-5 กก. ในช่วงเดือนแรก

    • อีกทั้งหลังจากหยุดการใช้ยาพบว่ายามีผลทำให้น้ำหนักกลับมาเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 1.9% เท่านั้น แต่จะมีโอกาสเพิ่มมากขึ้นหากไม่ควบคุมอาหารร่วมด้วย

    • GLP-1 กับไขมันพอกตับ
      • จากการศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์เมื่อปี พศ. 2565 เป็นการศึกษา ในอาสาสมัคร 320 คนที่มีไขมันพอกตับและมีตับอักเสบ หรือ NASH พบว่าตับอักเสบขากไขมันลดลงถึง 60% โดยในการใช้ยาที่ขนาดสูงขึ้น สามารถที่จะลดตับอักเสบได้สูงขึ้นตามขนาดยาที่ใช้ อย่างมีนัยสำคัญ และพังผืดที่เกิดจากไขมันพอกตับซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เกิดตับแข็ง ลดลง 43%

      • แต่อีกการศึกษา ที่ศึกษาในผู้ป่วยที่เป็น “ตับแข็งจากโรคไขมันพอกตับ” การใช้ “Semaglutide” กลับไม่ช่วยทำให้ตับแข็งดีขึ้น

    • ดังนั้นการใช้ยา “Semaglutide” ในการรักษาไขมันพอกตับ จึงควรใช้ในผู้ป่วยที่ยังไม่มีตับแข็ง แต่เริ่มมีตับอักเสบจากไขมันพอกตับแล้ว  

ยาตัวอื่นที่ช่วยรักษาไขมันพอกตับ มีข้อมูลบ้างหรือไม่

  • เป็นที่ทราบกันดี ว่าวิธีรักษาไขมันพอกตับที่ดีที่สุดยังเป็นเรื่องของการคุมอาหาร ออกกำลังกาย และการลดน้ำหนัก แต่ก็เป็นวิธีที่ปฏิบัติได้ยากสำหรับหลายๆคน
  • มีข้อมูลในการรักษาไขมันพอกตับด้วยการใช้ “วิตามิน E (Vitamin E)” ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระที่มาทำลายตับจากการที่มีไขมันพอกตับ โดยทานเป็นระยะเวลา 2 ปี พบว่า “Vitamin E” สามารถช่วยลดตับอักเสบจากไขมันพอกตับได้ ดังนั้น “Vitamin E” จึงเป็นยาอีกชนิดที่นำมาใช้ในการรักษาโรคไขมันพอกตับ อย่างแพร่หลาย
  • นอกจากนั้นยังมียาอื่นๆ ที่กำลังอยู่ในขั้นของการทดลอง ซึ่งคงต้องรอข้อมูลในอนาคต ว่าเป็นอย่างไร

 

ณ ปัจจุบัน โรคไขมันพอกตับ กลายเป็นโรคตับที่เจอมากที่สุดในโลก และก่อให้เกิดการสูญเสียมากมาย การดูและตัวเองใส่ใจสุขภาพ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคร้ายนี้ และหากตรวจพบว่ามีไขมันพอกตับ ควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดโอกาสการเกิดตับแข็งและมะเร็งตับในอนาคต


บทความที่เกี่ยวข้อง
Food intolerance food allergy
Discover food intolerance in this detailed guide. If you're dealing with food intolerance, this article is a must-read.
14 ต.ค. 2023
โรคภูมิแพ้อาหารแฝง
ค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างโรคภูมิแพ้อาหารแฝงกับสุขภาพที่ดีของคุณ เรียนรู้ข้อมูลคำแนะนำที่เกี่ยวกับการจัดการการภูมิแพ้อาหารแฝงเพื่อชีวิตที่มีสุขภาพดีขึ้น
14 ต.ค. 2023
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy